การเทียบโอนผลการเรียน

ระเบียบโรงเรียนชุมชนบ้านโสกวิทยาคาร

ว่าด้วยการเทียบโอนผลการเรียน พ.ศ. 2558

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการเทียบโอนผลการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี พ.ศ. 2545 ให้สถานศึกษามีหน้าที่ในการเทียบโอนผลการเรียนตามระดับประเภทวิชาหรือสาขาวิชาที่สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนตามหลักสูตรของสถานศึกษา จึงออกระเบียบไว้ดังนี้

ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบโรงเรียนชุมชนบ้านโสกวิทยาคาร ว่าด้วยการเทียบโอนผลการเรียน พ.ศ. 2549”

ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 เป็นต้นไป

ข้อ 3. ในระเบียบนี้

“สถานศึกษา” หมายถึง สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 16 (2) ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

“การเทียบโอน” หมายถึง การนำผลการเรียนซึ่งเป็นความรู้ ทักษะและประสบการณ์ของผู้เรียนที่เกิดจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัยมาประเมินเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง

ข้อ 4. ผู้ขอเทียบโอนต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง

2. มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ครบตามมาตรฐานของมาตรฐานหมวดวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มาขอเทียบโอนผลการเรียน

“อนุกรรมการ” หมายความว่า อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการ

ข้อ 5. ให้สถานศึกษาแต่ตั้งคณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน และไม่เกิน 5 คน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการสถานศึกษาทำหน้าที่เทียบโอนการเรียนให้กับผู้ขอเทียบโอนผลการเรียน คณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนต้องมีคุณสมบัติสอดคล้องกับระดับการศึกษาหรือสาขาวิชาที่จะทำการเทียบโอน

ข้อ 6. ให้คณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียน มีหน้าที่ดังนี้

1. จัดทำสาระ เครื่องมือ และวิธีเทียบโอนผลการเรียนของรายวิชาและกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ

2. ดำเนินการเทียบโอนผลการเรียนให้กับผู้เรียนที่ร้องขอ

3. ประเมินผลและตัดสินผลการเทียบโอน

4. เสนอผลการเทียบโอนต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรของสถานศึกษาให้ความเห็นชอบและเสนอผู้บริหารสถานศึกษาตัดสินการอนุมัติการเทียบโอน

ข้อ 7. การเทียบโอนให้ดำเนินการดังนี้

1. ผู้ขอเทียบโอนต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาของสถานศึกษาใด สถานศึกษาหนึ่งโดยสถานศึกษาดังกล่าวดำเนินการเทียบโอนผลการเรียนในภาคเรียนแรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ยกเว้นกรณีมีเหตุผลจำเป็น

2. จำนวนหมวดวิชา รายวิชาจำนวนหน่วยการเรียนที่จะรับเทียบโอนและผลการเรียนที่จะนำมาเทียบโอนต้องมีอายุไม่เกิน 1 ปี นับถึงวันยื่นความจำนง ทั้งนี้เมื่อเทียบโอนแล้วผู้ขอเทียบโอนต้องมีเวลาเรียนอยู่ในสถานศึกษาที่รับเทียบโอนไม่น้อยกว่า 1 ภาคเรียน

3. ในกรณีมีเหตุผลความจำเป็นระหว่างเรียนผู้เรียนสามารถแจ้งความจำนงขอไปศึกษาบางรายวิชาในสถานศึกษาอื่นแล้วนำผลมาเทียบโอนได้ คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการของสถานศึกษา

4. กรณีผู้ขอเทียบโอนมีผลการเรียนมาจากหลักสูตรต่างๆ ให้นำหมวดวิชา รายวิชาที่มีจุดประสงค์และเนื้อหาสอดคล้องกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 มาเทียบโอนผลการเรียนได้และพิจารณาให้ระดับผลการเรียนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่รับเทียบโอน

5. กรณีการเทียบโอนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ให้พิจารณาจากเอกสารหลักฐาน (ถ้ามี) โดยให้มีการประเมินด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย และให้ระดับผลการเรียนตามเกณฑ์การประเมินผลการเรียนของหลักสูตรที่รับการเทียบโอน

ข้อ 8. ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้อนุมัติการเทียบโอนผลการเรียน

ข้อ 9. ให้หัวหน้าสถานศึกษารักษาการณ์ให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับปฏิบัติตามระเบียบนี้

การลงโทษนักเรียน

การลงโทษมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้หลาบจำ และไม่ทำพฤติกรรมเช่นนั้นอีก โดยต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ถูกต้องดีงามตามที่สังคม กำหนด แนวคิดของจุดประสงค์ของการลงโทษยังคงเป็นอยู่ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการที่ เปลี่ยนไป แต่จุดประสงค์หลักยังไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นการลงโทษกับประชาชนทั่วไป หรือการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา

วิทยาการด้านการพิจารณาลงโทษได้ พัฒนาไปมาก มีการศึกษาวิจัยถึงระดับปริญญาเอก โดยสาระสำคัญต้องการให้การลงโทษเกิดประโยชน์กับสังคม และปัจเจกบุคคลมากที่สุด จะเห็นได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนวิธีการลงโทษจากวิธีที่ใช้การทำร้ายร่างกายและ จิตใจ มาสู่การแก้ไขพฤติกรรม และการจำกัด หรือกักขัง ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมหรือผู้อื่น

แนวคิดว่าการลงโทษเป็นความจำเป็นในการสร้างคนให้มีคุณภาพ ถึงกับมีคำกล่าวว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” และเมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ไม้เรียว” เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานระดับสูง หรือ เป็นเพียงพนักงานธรรมดา ๆ ที่เคยผ่านการอบรมบ่มเพาะจากโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษามาอย่างเข้มข้นคงได้เคยสัมผัสและรู้จักรสชาติของไม้เรียว เป็นอย่างดีถ้ามองย้อนกลับไปถึงนัยของการทำโทษนักเรียน นักศึกษาในอดีตดูเหมือนจะถูกทำโทษด้วยไม้เรียวกันเป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติ และเมื่อมีงานเลี้ยงรุ่นของบรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียนต่าง ๆ ที่มารวมตัวกันต่างนำเรื่องการโดนไม้เรียว หรือการทำโทษต่าง ๆ เช่น เดินเป็ด ขนมจีบ สองเกลียวบิดพุง คาบไม้บรรทัด ขว้างด้วยแปลงลบกระดาน วิ่งรอบสนาม ล้างส้วม ทำงานหนักอื่น ๆ และที่หนักมากที่สุดคือ การเฆี่ยนตีหน้าเสาธง หรือหน้าชั้นเรียน เรื่องการลงโทษและถูกทำโทษด้วยวิธีแปลก ๆ นี้เมื่อเวลาผ่านไป ได้ถูกนำมาพูดกันอย่างสนุกสนาน ยิ่งถ้าครูคนไหนดุ หรือทำโทษบ่อยมาก ๆ ก็จะเป็นที่จดจำของบรรดาลูกศิษย์ ซึ่งอาจเป็นทั้งที่รักและที่เกลียดชังด้วยก็มี การทำโทษด้วยการใช้ไม้เรียว เฆี่ยน ตี หรือ การทำโทษด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เกิดเป็นความบอบช้ำไม่เฉพาะด้านร่างกายเท่านั้นยังส่งผลต่อจิตใจของผู้ เรียน และผู้ปกครองอีกด้านหนึ่งด้วยจึงมีคำถามตามมาว่าครูควรจะ ลงโทษแบบไหน ถึงจะเรียกว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ ครูควรมีจิตสำนึกของความเป็นครูอันเป็นพื้นฐานที่แข็งแรง เพราะหากมีการทำโทษด้วยจิตสำนึกดังกล่าวถึงแม้ว่าจะออกมาในรูปแบบของการ เฆี่ยนตี แต่ก็ด้วยความมุ่งหมายที่ต้องการให้ผู้เรียนหลาบจำ ไม่ต้องการให้มีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมอีก ปัจจุบันด้วยจิตสำนึกของครู (บางคน) ขาดหายไปจึงเกิดกรณีเป็นข่าวในเรื่อง การทำโทษนักเรียนหรือ นักศึกษาเกินกว่าเหตุ และเมื่อพิจารณาแล้วการทำโทษในบางครั้งแทบจะไม่มีเยื่อใยความผูกพันระหว่าง ความเป็นครูกับศิษย์ ให้เห็นเลย

ระเบียบการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา

ระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ได้กำหนดวิธีการลงโทษไว้ซึ่งจะนำมากล่าวถึงในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญดังนี้ข้อ 4. ...“การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน

ข้อ 5 โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี4 สถาน ดังนี้

1.ว่ากล่าวตักเตือน

2.ทำทัณฑ์บน

3.ตัดคะแนนความประพฤติ

4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความ ประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไปให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษามอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษ นักเรียน นักศึกษา

ข้อ 7. การว่ากล่าวตักเตือน ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษากระทำความผิดไม่ร้ายแรง

ข้อ 8. การทำทัณฑ์บนใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพ นักเรียนหรือนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บน ไว้ด้วย

ข้อ 9. การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและ นักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ 10. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยน พฤติกรรม การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดซึ่ง ก่อนหน้าปี 2542 กระทรวงศึกษาธิการมีระเบียบลงโทษนักเรียน ที่อนุญาตให้ครูใช้ไม้เรียวตีนักเรียนได้ หลังจากปี 2542 มีระเบียบลงโทษนักเรียน ห้ามลงโทษนักเรียนโดยการตี และล่าสุดจากระเบียบข้างต้นโดยปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย เรื่องการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 กำหนดบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมเท่านั้น นั่นหมายความว่าครูไม่ควรลงโทษนักเรียนและนักศึกษา ด้วยวิธีการอื่นๆ นอกเหนือจาก 4 มาตรการนี้

การลงโทษนักเรียนในอุดมคติ

การ ลงโทษควรเป็นวิธีการสุดท้ายสำหรับครู/อาจารย์ที่จะพึงกระทำต่อผู้เรียน และการทำโทษต้องอยู่บนเจตนาของความต้องการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เท่านั้น การทำการบ้านผิด ตอบคำถามผิด หรือมีการเรียนที่ล่าช้า ไม่สมควรได้รับการลงโทษด้วยความรุนแรง ในอดีตการทำการบ้านผิด ตอบคำถามผิด หรือการเรียนที่ล่าช้า จะถูกทำโทษจากครู/อาจารย์ อย่างรุนแรงด้วยการเฆี่ยน ตี หรือทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ การลงโทษที่เหมาะสมในยุคปัจจุบันจึงควรละเว้นการทำร้ายร่างการและจิตใจด้วย วิธีการต่าง ๆ อย่างสิ้นเชิง ความผิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลจากกระบวนการเรียนการสอนนั้น ต้องได้รับการแก้ไขด้วยกระบวนการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เหมาะสม ถ้านักเรียนหรือนักศึกษาทำความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและ สมควรต้องได้รับการลงโทษ ครู/อาจารย์ควรหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการแก้ไขพฤติกรรมด้วยการทำร้าย ร่างกายหรือจิตใจ ด้วยประการทั้งปวง เช่น การลงโทษด้วยการเฆี่ยน ตี หรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่กระทบความรู้สึกอย่างรุนแรงครู/อาจารย์ควรให้ผู้ที่ มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการจะดีกว่า เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขความประพฤติของ เยาวชน หรือคนในสังคม ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ และมีความชำนาญในกระบวนการและวิธีการลงโทษตามลักษณะของพฤติกรรมที่ควรได้รับ การลงโทษ เพราะครู/อาจารย์ไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือได้รับการสั่งสอน มาให้เป็นผู้พิจารณาโทษและลงโทษผู้เรียนอย่างเป็นระบบ การตัดสินลงโทษของครูจึงมีความผิดพลาดได้ง่าย เพราะครูมักจะใช้อารมณ์ และความรู้สึกของตนเองตัดสินเป็นสำคัญ ยิ่งถ้าครูเป็นผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนกับการการทำผิดของผู้เรียนด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความเป็นธรรมและความชอบธรรมลดลงมาก ครูควรหมดหน้าที่ลงโทษผู้เรียนด้วยการทำร้ายร่างกายและจิตใจอีกต่อไป